ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มเสี่ยงรู้ไว้ ใส่ใจเอชไอวี (HIV)


          ปัจจุบันนี้สังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น การยอมรับในความลื่นไหลทางเพศมีทิศทางที่เป็นไปได้มากขึ้น ดังนั้น เวลาที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศ จะไม่แบ่งเป็นกลุ่มๆ อีกต่อไป แต่จะพูดรวมเป็น กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือในภาษาอังกฤษเป็นคำย่อว่า LGBT (หรือ GLBT) (พีรดา ภูมิสวัสดิ์, 2554)

MSM/TG คืออะไร ?

          MSM ย่อมาจากภาษาอังกฤษ Men who have Sex with Men แปลว่า ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือ ชายรักชาย ส่วน TG นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของ MSM ซึ่งย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Transgender หรือที่รู้จักกันว่า สาวประเภทสอง
          จากข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แนวหน้า. (2558) กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มชายรักชายประมาณห้าแสนคน จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก และ 3 ใน 10 ของชายรักชายในเขตกรุงเทพมีเชื้อเอชไอวี
การรับเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
          จากข้อมูลของ มูลนิธิเอชไอวี. (2557) HIV หรือ ฮิวแมน อิมมูโนเดฟิเชียนซี ไวรัส เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ยาก ไวรัสชนิดนี้ไม่แพร่กระจายทางอากาศหรือการสัมผัส แต่ติดต่อผ่านของเหลวในร่างกายหรือเลือด 


ภาพที่ 1 ช่องทางการติดเชื้อเอชไอวี
ที่มา : (health2click, 2559)

จากข้อมูลของ health2click (2559) ได้อธิบายเกี่ยวกับช่องทางการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้

1.การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักกับผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน
2.การมีเพศสัมพันธ์ทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน
3.ผู้ร่วมมีเพศสัมพันธ์รับเอาน้ำคัดหลั่งจากช่องคลอด อสุจิ หรือน้ำเลี้ยงอสุจิเข้าไปในปากของเขาหรือเธอทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
4.การถ่ายเลือดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีการปนเปื้อน
5.การใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์ฉีดยาอื่นๆ ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ HIV
6.จากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรือให้นมบุตรด้วยน้ำนมแม่

การป้องกันการติดเชื้อ HIV (มูลนิธิเอชไอวี.  2557) มีดังนี้

1.การป้องกันการติดเชื้อ HIV จากเพศสัมพันธ์
          การติดเชื้อ HIV จะสามารถติดต่อทางเยื่อเมือก (mucous membranes) เช่น ปลายอวัยวะเพศชาย ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หากเยื่อเมือกเหล่านี้ได้รับเชื้อ HIV จากน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นของทั้งหญิงและชาย เลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
          1.1 วิธีป้องกันที่ได้ผลมากที่สุดแต่ทำยากที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
          1.2 ป้องกันตัวเองทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยาง นอกจากการเลือกใช้ชนิดของถุงยางแล้ว ต้องเรียนรู้วิธีใช้
          ที่ถูกต้อง ห้ามใช้สารหล่อลื่นที่เป็นไขมันเพราะจะทำให้ถุงยางรั่ว
2.การป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้น
          เชื้อ HIV สามารถติดต่อผ่านทางเข็มฉีดยาที่ใช้ร่วมกัน เข็มดังกล่าวจะปนเปื้อนเลือด ดังนั้นวิธีป้องกันการติดเชื้อ
ทำได้ดังนี้
          2.1 หยุดยาเสพติดและเข้ารับการบำบัดเพื่อหยุดยาเสพติด
          2.2 หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ให้ใช้เข็มใหม่ทุกครั้ง
3.การป้องกันการติดเชื้อ HIV ในคนท้อง
          เด็กที่คลอดจากแม่ที่มีเชื้อ HIV สามารถรับเชื้อจากแม่ขณะตั้งครรภ์และการคลอด ปัจจุบันหากทราบว่าคนท้องมีเชื้อ HIV สามารถให้ยา AZT ซึ่งสามารถลดอัตราการติดเชื้อลง (เฟื่องลดา ทองประเสริฐ, 2554)




อ้างอิง

health2click.   (2559). ช่องทางการติดเชื้อเอชไอวี. [Online].
            Available:  http://www.health2click.com. [2559, มิถุนายน 13]
แนวหน้า.
  (2558). พฤติกรรมเสี่ยง ยังน่าห่วง ส่องวิกฤติโรคเอดส์ในไทย. [Online].
            Available:  http:// m.naewna.com/view/highlight/191010. [2559, มิถุนายน 13]
มูลนิธิเอชไอวี  (2557). ป้องกันเพื่อตัวคุณเอง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. [Online].
            Available:  http://hivtukikeskus.fi. [2559, มิถุนายน 13]
พีรดา ภูมิสวัสดิ์.  (2554).  LGBT สิทธิมนุษยชน และการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว.
            [Online]. Available:  http://www.gender.go.th [2559, มิถุนายน 13]
เฟื่องลดา ทองประเสริฐ.
  (2554). ยาต้าน HIV ในสตรีตั้งครรภ์. [Online].
            Available:  http://www.med.cmu.ac.th. [2559, มิถุนายน 13]





โดยนางสาวดุษฎี เสือช่อ
รหัสนักศึกษา 5711011809030
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต 
สาขาวิชาเลขานุการทางการแพทย์
อาจารย์ที่ปรึกษา 1. ผศ.ปวีณา สปิลเลอร์
  2.คุณวรโชติ   ลมุดทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น